ในปัจจุบันนี้มีคำศัพท์หลายคำที่เขียนผิด แต่มีคนใช้ผิดแบบนั้นเยอะ พอเราเห็นจนชินตา เราก็คิดกันไปว่าการเขียนแบบนั้นถูกต้องแล้ว เราจึงเขียนคำภาษาไทยง่ายๆผิดโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะคนที่ทำงานในองค์กรหน่วยงาน เอกสารต่างๆที่จัดทำขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ ใช้ในเรื่องทางการซึ่งมักมีผลกับคนหมู่มากหรือมีผลกับองค์กรเอง ถ้าเขียนผิดอาจทำให้สื่อความหมายผิด โดนเจ้านายตำหนิ แล้วก็ยังดูไม่โปรอีกด้วยค่ะ ดังนั้นวันนี้เราจึงมีแอปมาแนะนำ แอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นแอปพจนานุกรมไทย รวบรวมคำศัพท์ภาษาไทยไว้มากมาย ต่างกับการที่เราไปค้นเองในgoogle ซึ่งมีหลายเว็บ บางเว็บข้อมูลอาจจะผิด เราก็ต้องใช้วิจารณญาณประเมินอีก แต่แอปพลิเคชันนี้จัดทำขึ้นโดยสำนักงานราชบัณฑิตยสถานเอง จึงเชื่อได้ว่าข้อมูลนั้นถูกต้องตามราชบัณฑิตยสถานแน่นอน ส่วนในการใช้งานเราสามารถค้นหาได้ทั้งแบบดูตามหมวดอักษร หรือจะพิมพ์คำที่ต้องการค้นหาก็ได้
เมื่อค้นหาคำแล้ว จะมีบอกคำอ่าน ประเภทของคำ เช่นเป็นคำนาม คำกริยา หรือประเภทคำศัพท์ทางกฎหมาย คำศัพท์ที่ใช้ในบทประพันธ์ มีบอกความหมายของคำ และยังมีการยกตัวอย่างประโยคที่ใช้คำนั้นเพื่อเพิ่มความเข้าใจอีกด้วย
มีคำศัพท์ยากๆมากมายที่เราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยิน โดยเฉพาะศัพท์โบราณที่ใช้ในการแต่งบทประพันธ์เช่นกาพย์ กลอน สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่อาจารย์มักจะสั่งให้แต่งกลอนส่ง นักเรียนมักจะพบปัญหาในการหาคำลงสัมผัสไม่ได้ ใช้คำง่ายๆสามัญเกินไปไม่สละสลวย เราก็สามารถค้นคำศัพท์ยากๆเพราะๆสละสลวยมาใส่กลอนของเราได้เลย มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ เช่นในรูป คำว่า ไกรสร ไกรศร แปลว่าสิงโต เป็นศัพท์ที่ใช้ในบทกลอน ถ้าเราแต่งกลอนแล้วต้องใช้คำว่าสิงโตซึ่งมันธรรมดาไป เราอาจเลี่ยงไปใช้คำว่าไกรสรแทน ทำให้กลอนไพเราะขึ้นมากเลยค่ะ
มีคำศัพท์ทางกฎหมาย ปกติศัพท์ทางกฎหมายมักจะมีคำที่เข้าใจได้ยาก เราก็ค้นคว้าจากในแอปนี้ได้สะดวกรวดเร็ว เป็นประโยชน์กับนักศึกษากฎหมายหรือคนทำงานในวงการกฎหมายมากเลยค่ะ ทำให้ไม่ต้องซื้อพจนานุกรมทางกฎหมายเพิ่มก็ได้ นอกจากนี้ยังมีการประวัติการค้นหา บุ๊คมาร์กให้เราบันทึกคำเก็บไว้ดูทีหลังได้สะดวกด้วย
แอปนี้ถือว่ามีประโยชน์กับคนทุกกลุ่ม ทั้งประชาชนทั่วไป นักเรียนนักศึกษา วัยทำงาน ค้นคว้าข้อมูลได้สะดวกรวดเร็วจากฐานข้อมูลที่ถูกต้องมีมาตรฐาน เหมาะจะมีแอปนี้ติดมือถือไว้จริงๆค่ะ ดาวน์โหลด