วิธีแต่งกลอน ฉบับเข้าใจง่าย

เคยไหมเวลาครูสั่งการบ้านไม่ว่าจะกลอนแปด กลอนสี่ กาพย์ยานี11 โคลงสี่สุภาพ ฯลฯ แล้วมีปัญหาติดขัด เช่นจะเริ่มยังไง หาคำสัมผัสไม่ได้ หรือใช้คำไม่สละสลวย ฟังดูแปลกๆหู ซึ่งบทความนี้จะสอนวิธีแต่งคำประพันธ์อย่างง่าย ใช้ได้จริงฉบับนักเรียนและบุคคลทั่วไป วิธีนี้ใช้ได้กับการแต่งคำประพันธ์ทุกประเภท

1.วางแผนการเขียน ช่วยให้รู้ว่าเราจะพูดถึงอะไรบ้าง ช่วยตีกรอบเนื้อหาไม่ให้แต่งวกวนหรือออกทะเล และง่ายในการจัดการความคิดที่ยุ่งเหยิงในหัว เมื่อได้หัวเรื่องมา ก่อนจะเริ่มลงมือแต่งเป็นคำกลอน ให้เราหากระดาษสักแผ่นมาร่างโครงเรื่องคร่าวๆก่อน ว่าเราจะพูดถึงอะไรบ้างในบทกลอน โดยเขียนเป็นภาษาปกติทั่วไป

อย่าเพิ่งไปสนใจใส่สัมผัส ทำนอง โดยวางเนื้อเรื่องเป็นสามหัวข้อเหมือนเขียนเรียงความ มีคำนำ เนื้อเรื่อง สรุป

1.1 คำนำ คำนำเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้อ่านรู้ว่ากลอนของเราจะพูดถึงอะไร เช่นเราได้หัวข้อกลอนเรื่องวันสุนทรภู่ คำนำอาจจะเป็นการเกริ่นคร่าวๆ ว่าวันสุนทรภู่คืออะไร เรารำลึกถึงใคร สุนทรภู่คือใคร

1.2 เนื้อเรื่อง เป็นส่วนสำคัญที่ต้องมีเนื้อหามากที่สุด ให้ส่วนนี้เราอาจจะพูดถึงผลงานต่างๆของสุนทรภู่ เลือกได้ผลงานเด่นๆก็ได้

1.3 สรุป จะเป็นการกล่าวรวมๆทวนทั้งหมดอย่างสั้นๆ เช่นสรุปว่า สุนทรภู่มีความสำคัญยังไง หรือเขียนเชิงเชิญชวนเช่น เราควรระลึกถึงคุณความดีของสุนทรภู่ ควรศึกษาสืบสานผลงานของสุนทรภู่ เป็นต้น

เมื่อนำเนื้อหาที่ร่างไว้ไปแปลงเป็นบทกลอน ให้ปรับความสั้นยาวตามความเหมาะสม เช่นต้องแต่งกลอน 5 บท อาจจะแบ่งเป็นคำนำ 1 บท เนื้อเรื่อง 3 บท สรุป 1 บท ถ้าต้องแต่งแค่ 2 บท อาจจะพูดถึงคำนำแค่ 2 วรรคแรก ที่เหลือเป็นเนื้อหา และสรุปใน 2 วรรคสุดท้าย

2.ศึกษาฉันทลักษณ์ ต้องแต่งคำประพันธ์ให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ของประเภทกลอนที่เราจะแต่ง กลอนแปด มีวรรคละกี่คำ พยางค์ไหนบังคับให้สัมผัสกัน ต้องทำตามนั้นอย่างเคร่งครัด กลอน กาพย์ โคลง ฉันท์ แต่ละประเภทมีฉันทลักษณ์ต่างกัน จึงต้องดูให้ดี อย่าใช้ปนกัน

3.เขียนทุกคำที่นึกออก ตอนแต่งกลอนให้มีกระดาษทดแผ่นนึง เวลาที่ติดขัด หาคำลงสัมผัสไม่ได้ ให้เราเขียนทุกคำที่ใช้สัมผัสสระ หรือตัวสะกดเดียวกันกับคำที่เราติดขัด เขียนให้มากที่สุดเท่าที่นึกออก โดยไม่ต้องแคร์ว่ามันจะมีความหมายหรือไม่มีความหมาย เช่น คำว่ากัน เราต้องการหาคำมาสัมผัสกับคำว่ากัน ให้เรานึกคำพวกนี้ออกมาเยอะๆ กัน ขัน คัน จัน ยัน อัน ปัน ฯลฯ สังเกตุว่าจะมีบางคำที่ไม่มีความหมาย ใช้งานไม่ได้ แต่วิธีนี้จะทำให้เราต่อยอดความคิดต่อได้ เช่น เมื่อเรานึกคำว่า ขัน มีคำที่เสียงเดียวกันอีกมาก ขัน ขบขัน น่าขัน ขันธ์ หรือ จัน จันทร์ จันทรา จรรยาบัน โจษจัน หรือ ปัน แบ่งปัน ปัญญา ปัญหา

4.คำไวพจน์ คือคำที่มีความหมายเหมือนกัน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาเวลาติดขัด และทำให้กลอนสละสลวยขึ้น บางครั้งเราต้องการสื่อความหมายของคำนี้ แต่สัมผัสไม่ได้ ก็ให้หยิบยกคำไวพจน์มาใช้แทน ตัวอย่างคำไวพจน์ เช่น คำว่า ท้องฟ้า คำไวพจน์ของท้องฟ้าคือ เวหา เวหน นภา นภ อัมพร นภาลัย ทิฆัมพร คำไวพจน์ของดอกไม้ เช่น บุษบา ผกา มาลา มาลี โกสุม บุหงา บุปผชาติ

5.สัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสสระ สัมผัสพยัญชนะ สัมผัสต่างๆทำให้คำประพันธ์ไพเราะสละสลวยขึ้น หากเราต้องการ ก็พยายามคิดให้สัมผัสกัน

5.1 สัมผัสนอก อันนี้เป็นสัมผัสที่จำเป็นต้องมีอยู่แล้ว คือสัมผัสบังคับตามฉันทลักษณ์ของกลอนแต่ละประเภท

5.2 สัมผัสใน เป็นสัมผัสที่ไม่ได้บังคับว่าต้องมี แต่ถ้ามีจะทำให้คำประพันธ์สละสลวยลื่นหูมากขึ้น โดยสัมผัสในเป็นคำสัมผัสคลองจองภายในวรรคเดียวกัน จะเป็นสัมผัสสระหรือสัมผัสพยัญชนะก็ได้

5.3 สัมผัสสระ คือคำที่เสียงสระสัมผัสกัน

5.4 สัมผัสพยัญชนะ คือคำที่เสียงอักษรสัมผัสกัน

ตัวอย่างคำสัมผัส จากบทกลอนเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่

บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา

เดี๋ยว ดัง สัมผัสในเป็นสัมผัสพยัญชนะ

หง่าง เหง่ง สัมผัสในเป็นสัมผัสพยัญชนะ

เหง่ง เวง สัมผัสในเป็นสัมผัสสระ

วัง เวง แว่ว สัมผัสในเป็นสัมผัสพยัญชนะ

แว่ว แล้ว สัมผัสนอก

แล้ว เหลียว แล สัมผัสในเป็นสัมผัสพยัญชนะ

แล แง้ สัมผัสในเป็นสัมผัสสระ

แค่นี้การแต่งกลอนก็จะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป