เอาละ บทความวันนี้ผมจะสอนวิธีการขับรถยนต์ ในส่วนของการเข้าเกียร์กระปุก พูดง่าย ๆ ก็คือเกียร์แบบที่มีครัชนั้นเอง รถยนต์รุ่นๆเก่า ๆ ก็มักจะมีครัชและหลาย ๆ คนก็ยังชอบขับรถแบบมีครัชมากกว่าเกียร์ออโต (แต่ส่วนตัวผมชอบเกียร์ออโตนะ ขับง่ายสบายกว่า) เดี๋ยวผมจะลองพยายามอธิบายแบบเข้าใจง่าย ในฐานะที่ผมเองก็ขับรถยนต์ทั้งเกียร์ธรรมดาและออโต้มานานกว่า10ปีแล้ว
สมัยผมขับรถยนต์แรก ๆ ผมจะมองว่าเกียร์มันจะเป็นเหมือนตัว H ในภาษาอังกฤษ (ขับครั้งแรกเป็นรถเก๋ง 4 เกียร์เดินหน้า 1 เกียร์ถอยหลัง) โดยปกติแล้วคำว่าเกียร์ว่างหมายถึงตำแหน่งเกียร์ที่อยู่ตรงกลาง จากนั้นเวลาที่เราจะเข้าเกียร์ใด ๆ ก็ตาม ต้องเหยียบครัชให้มิดค้างเอาไว้ก่อนเสมอ แล้วจึงจะขยับเกียร์ไปยังตำแหน่งที่ต้องการ (เลข 1 2 3 4 5 6 R)
สมมุตเมื่อขยับเกียร์ไปที่เลข1 แล้วจึงจะปล่อยครัช ให้ปล่อยแค่ประมาณครึ่งเดียว รถก็จะเริ่มวิ่งอย่างช้า ๆ หลักการมีแค่นี้ ส่วนปัญหาของมือใหม่ก็คือ เข้าเกียร์ 1 ปล่อยครัชแล้วรถดับ เป็นปัญหาพื้นฐานที่ใคร ๆ ก็เป็นกัน ไม่ต้องไปตกใจ อย่ากลัวเวลารถกระชากแล้วดับไป เวลารถดับขณะอยู่ในเกียร์รถมันจะวิ่งไม่ได้
สาเหตุที่รถดับเพราะว่า ปล่อยครัชมากเกินไป รอบเครื่องยนต์ต่ำและรถยังไม่ทันได้เคลื่อนที่ในความเร็วที่มากพอจึงดับ ดังนั้นทางแก้คือ ปล่อยครัชครึ่งเดียว รอให้รถวิ่งออกตัวก่อนจากนั้นก็ค่อย ๆ ปล่อยครัชจนสุดครับ เวลาจะหัดขับรถแนะนำว่าควรจะใช้รถที่สภาพดีครัชไม่แข็งในการฝึกขับ ถ้าเอารถเก่าครัชแข็ง ๆ มาหัดขับ จะขับยาก จะมีปัญหารถดับบ่อย บางคนอาจจะเรียกว่า “ยังไม่รู้ใจรถ”
เมื่อเข้าเกียร์ 1 ได้แล้ว ปล่อยครัชได้ รถวิ่งไปได้ไม่ดับ ก็ถึงเวลาที่จะต้องเข้าเกียร์ 2 วิธีสังเกตุง่าย ๆ เวลาจะเปลี่ยนเกียร์คือ ให้ดูรอบเครื่องยนต์ เวลาจะเปลี่ยนไปเกียร์สอง ให้เหยียบคันเร่ง รอบถึงประมาณ 2000 ก่อน จากนั้นจึงจะเปลี่ยนเกียร์ 2 ครับ การเปลี่ยนไปเกียร์ 3 4 5 ก็ทำเช่นเกียวกัน เร่งความเร็วให้รอบถึง 2000 ก่อนถึงจะเปลี่ยนเกียร์ตามลำดับ อย่าเปลี่ยนข้ามลำดับนะครับ (แต่เมื่อชำนาญแล้วมักจะใช้วิธีฟังเสียงเครื่องยนต์แทนการดูที่หน้าปัด)
แต่สำหรับมือใหม่ผมแนะนำว่า ขับแค่เกียร์ 1 ไปก่อนครับ ไม่ต้องเร่งเครื่องยนต์ เอาแค่ให้ขับแล้วตรงทางไม่เป็นงูเลื้อยซ้ายทีขวาทีแล้วค่อยมาหัดเข้าเกียร์ 2 เข้าเกียร์สองไม่ยากหรอก เพราะว่ามักจะไม่ดับ แต่ว่าความเร็วมันจะสูงกว่าอาจจะทำให้ตกใจได้ ดังนั้นขับรถให้ตรงทางก่อนจะดีกว่า
ทีนี้มาพูดถึงการลดเกียร์กันบ้าง การลดเกียร์สามารถลดข้ามลำดับได้นะ เช่นจากเกียร์ 5 ลงมาเกียร์ 2 เลยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องลดตามลำดับเหมือนกับตอนเพิ่มเกียร์ แต่ผมจะขอพูดเรื่องการลดตามลำดับก่อนละกัน
การลดเกียร์ตามลำดับให้สังเกตุที่รอบเครื่องยนต์ ถ้ารอบเครื่องเหลือประมาณ 1000 แปลว่าต้องลดเกียร์ลง 1 ระดับ ไม่เช่นนั้นรถจะไม่มีแรงหรืออาจจะดับได้ เช่นขับอยู่ที่เกียร์ 5 แล้วพอดีข้างหน้ารถชับช้า เลยทำให้เราจำเป็นต้องเบรค พอเบรคแล้วความเร็วก็ลดลง รอบเครื่องก็ลดลง ทำให้เราจำเป็นต้องลดเกียร์ลงให้เหมาะสมกับความเร็วและรอบเครื่องยนต์
เวลาจะลดเกียร์ก็ทำเหมือนเดิม คือเหยียบครัชให้จมค้างไว้ จากนั้นก็ลดจากเกียร์ 5 ลงมาเกียร์ 4 แล้วปล่อยครัช แนะนำว่าปล่อยครึ่งเดียวก่อนเพื่อไม่ให้รถกระชาก จากนั้นค่อยปล่อยจนหมดครับ (กรณีลดเกียร์ถึงปล่อยครัชทีเดียวหมดรถก็ไม่ดับนะ แต่มันจะกระชาก)
เวลาขับจริงๆบนถนน เวลาที่รถคันหน้าเบรคแล้วเราต้องเบรคตามนั้น มันก็ไม่เสมอไปว่าเบรคแล้วความเร็วจะเหลือเท่าไร ดังนั้นการลดเกียร์ อาจจะลดแบบข้ามลำดับ ซึ่งจุดนี้ผมแนะนำว่าให้ดูที่ระดับความเร็ว จากประสบการณ์ที่ขับรถมา
เกียร์ 1 ความเร็ว 1 – 20
เกียร์ 2 ความเร็ว 20 – 40
เกียร์ 3 ความเร็ว 40 – 60
เกียร์ 4 ความเร็ว 60 – 80
เกียร์ 5 ความเร็ว 80 ขึ้นไป
จากข้อมูลข้างต้นคือเกียร์ที่เหมาะสมในระดับความเร็วต่าง ๆ ดังนั้นสมมุตถ้าขับอยู่ที่เกียร์ 5 ความเร็ว 100กม. แล้วจำเป็นต้องเบรคจนความเร็วลดลงถึง 50 เราก็ควรจะลดลงมาที่เกียร์ 3 เลยครับ นี่คือหลักการง่าย ๆ ในการใช้เกียร์ให้เหมาะสมกับความเร็ว เพราะถ้าเราใช้เกียร์ไม่เหมาะสมรถอาจจะดับหรือไม่มีแรงวิ่งได้ครับ
อีกอย่างหนึ่งเวลาที่เราเบรคเพื่อลดความเร็ว อย่าลืมเหยียบครัชค้างไว้ด้วยเสมอนะครับ เหยียบเพื่อป้องกันรอบเครื่องตกแล้วรถดับ เหยียบเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนเกียร์ เมื่อเราเหยียบครัช จะเหมือนกับรถเราอยู่ในเกียร์ว่างดังนั้นรถจะไม่ดับ จากนั่นพอจะเร่งเครื่องอีกครั้ง ก็เข้าเกียร์ที่เหมาะสมกับความเร็วในขณะนั้น
ส่วนเรื่องการเข้าเกียร์ R ถอยหลัง ต้องให้รถหยุดนิ่งก่อนจึงจะเข้าเกียร์ถอยหลังได้ครับการปล่อยครัชก็ทำเหมือนเกียร์1 ความยากของการถอยหลังไม่ได้อยู่ที่การเข้าเกียร์ แต่อยู่ที่การควบคุม ถอยให้ตรง หรือเลี้ยวเข้าซอยเข้าช่องให้ได้ดังใจ จุดนี้ละที่ยาก ต้องอาศัยประสบการณ์และการฝึกฝน
ใครมีคำถามเพิ่มเติมคอมเม้นทิ้งเอาไว้ได้นะครับ